4 วิธี รับมือกับเพื่อนบ้านจอมปาร์ตี้
เมื่อเสียงเพลงดังกระหึ่มจากเพื่อนบ้านจอมแสบกับปาร์ตี้ที่เปิดเพลงโต้รุ่งดังข้ามวันข้ามคืนตลอดช่วงวันหยุดยาว ความสนุกสนานที่เริ่มจะเกินขอบเขตไม่เพียงทำลายความฝันวันพักผ่อนของเรา แต่ยังเป็นปัญหาทำให้เราไม่ได้หลับไม่ได้นอน จากเสียงดังตลอดคืน ต่อไปนี้เราไม่จำเป็นต้องนั่งนับหนึ่งถึงสิบในห้อง และบอกตัวเองให้อดทนไว้แล้วมันก็จะผ่านพ้นไป ในเมื่อเรามีวิธีการสารพัดที่จะจัดการกับเพื่อนบ้านเจ้าปัญหาให้กลับไปสนุกแบบพอเหมาะพอควร
• เจรจาแบบเพื่อนบ้านที่แสนดี
การแก้ปัญหาขั้นแรกที่ควรทำ ซึ่งเป็นวิธีการแบบละมุนละม่อมที่สุด เพื่อรักษาไมตรีอันดีระหว่างกันแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เราควรเริ่มจากการพูดคุยกันคล้ายกับการส่งสัญญาณเตือนเบื้องต้น เพราะหลายครั้งที่เพื่อนบ้านส่งเสียงดังอาจจะไม่รู้ตัวว่า นอกจากเขาแล้วยังมีคนบ้านใกล้เรือนเคียงอีกมากมายที่รับความเดือดร้อนจากเสียงดังรบกวน โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่ควรจะสงบเงียบ
สำหรับวิธีการคุยขอแนะนำให้พูดคุยกันต่อหน้าดีกว่าการเขียนข้อความระบายอารมณ์บนกระดาษและฝากข้อความไว้ ยิ่งไปกว่านั้นเราควรสงบจิตสงบใจให้ดี อย่าให้อารมณ์หงุดหงิดหรือไม่พอใจเป็นตัวนำในการคุย แต่ให้คุยด้วยเหตุผลและพยายามแสดงความเป็นมิตรในการร้องขอความสงบสุขให้กลับคืนมา เช่น ลดเสียงเพลงบ้าง และบอกช่วงเวลาปกติที่เราพักผ่อนนอนหลับ เพื่อให้เขาได้รู้ขอบเขตของช่วงเวลาและความดังของเสียงเพลงโดยประมาณ
• แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ในกรณีที่ไม่สะดวกใจติดต่อพูดคุยกับเพื่อนบ้าน หรืออาจจะพูดคุยแล้วและเพื่อนบ้านยอมลดเสียงลง แต่การใช้ผนังกั้นห้องร่วมกัน ทำให้ห้องไม่เก็บเสียงและเรายังคงได้ยินเสียงดังรบกวนอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป เราคงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว เช่น เปิดเพลงเข้ากับลำโพงในห้องเพื่อกลบเสียงจากภายนอก การใช้หูฟังเพื่อฟังเพลงโปรดของเรา การใช้ที่อุดหูลดเสียงเวลานอน หรือการเปลี่ยนประตูหน้าต่างที่ป้องกันเสียงภายนอกได้ดีขึ้น
• ปรึกษาคนกลาง
คอนโดมิเนียมหรือบ้านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มักจะมีนิติบุคคลเป็นผู้ดูแลและสามารถให้คำปรึกษาเราได้ ซึ่งโดยปกตินิติบุคคลจะทำหน้าที่บริหารจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางตามกฎระเบียบข้อบังคับ และการให้ความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยที่เป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น ปัญหาที่จอดรถไม่พอ รถบุคคลภายนอกจอดกีดขวาง การป้องกันอัคคีภัยไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาค่าส่วนกลาง ซึ่งครอบคลุมถึงปัญหาคนข้างห้องหรือเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวน
ดังนั้น ถ้าหากเราใช้วิธีการข้างต้นแล้วไม่ได้ผล เราอาจจะให้นิติบุคคลช่วยพูดตักเตือนเพื่อนบ้านให้ลดเสียงลงในช่วงเวลาที่เสียงกำลังดัง เพื่อป้องกันเพื่อนบ้านปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยเฉพาะถ้าเสียงรบกวนนั้นดังเกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เรายิ่งมีสิทธิโดยชอบธรรม
• ใช้กฎระเบียบข้อบังคับ
ในปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมักมีการกำหนดกฎระเบียบการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งเราสามารถสอบถามได้จากนิติบุคคลหรือขอให้นิติบุคคลออกประกาศกฎระเบียบใหม่ได้หากเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยส่วนรวมเดือดร้อน เช่น การกำหนดให้ผู้อยู่อาศัยต้องดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้อยู่อาศัยอื่น ระเบียบการใช้ที่จอดรถร่วมกัน และไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ที่จอดรถของผู้อยู่อาศัยในโครงการ ข้อห้ามการตกแต่งหรือต่อเติมในวันหยุดและเวลากลางคืน เพราะเป็นการรบกวนผู้อื่นในเวลาพักผ่อน รวมถึงการห้ามส่งเสียงดังเกินไปในระดับใดและในช่วงเวลาไหน
นอกจากนั้น ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ยังกำหนดให้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถจัดการกับเหตุที่สร้างความรำคาญกับผู้อยู่อาศัยส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น แสง เสียง ความร้อน หรือกรณีใดที่ส่งผลต่อสุขภาพของเรา ซึ่งเราสามารถติดต่อร้องเรียนได้ ภายใต้กฎหมายให้การคุ้มครอง
สุดท้ายหากใช้ทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล แถมดูเหมือนเพื่อนบ้านตัวดีจะตั้งใจก่อกวนเปิดเสียงเพลงดังขึ้น เราอาจจะต้องพึ่งพาตำรวจให้เข้ามาช่วยจัดการในช่วงเวลาที่เพื่อนบ้านกำลังทำเสียงดังรบกวน อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ขอให้ลองใช้วิธีการอื่นๆข้างต้นดูก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนยกหูโทรศัพท์เรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก www.ddproperty.com